น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จี้รัฐเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว 50% ลดภาระผู้ปกครอง

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศธ.มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ศึกษาแนวทางจัดสรรงบประมาณ และอัตราเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงของผู้เรียน และสถานศึกษา ที่มีบริบทแตกต่างกัน รวมถึง สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากอัตราเงินอุดหนุนที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นอัตราที่ประกาศใช้เมื่อปีการศึกษา 2553 หรือกว่า 10 ปีแล้ว

ซึ่ง สกศ.ได้ศึกษาเสร็จแล้ว และเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามเสนอ เรื่องการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน และเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ศธ.ได้เสนอปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวแบบขั้นบันได ค่อยๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยปรับเพิ่มอัตราอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สำหรับผู้เรียนการศึกษาในระบบ และนอกระบบ ทุกกลุ่มอายุ ตามอัตราเงินเฟ้อ

เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า และบริการ โดยจะปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และเครื่องแบบจำเป็นอื่นๆ ตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงของ สกศ.ส่วนค่าหนังสือเรียนคงอัตราเดิม

“นอกจากนี้ ได้เสนอขอเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบ ให้ผู้เรียนการศึกษานอกระบบที่อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเดิมไม่เคยได้รับอุดหนุน และขอเพิ่มเงินอุดหนุนใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และค่าหนังสือเรียน สำหรับผู้เรียนการศึกษานอกระบบในระดับก่อนประถม ในอัตราเดียวกับผู้เรียนการศึกษาในระบบด้วย เพราะปัจจุบันกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับอุดหนุน” น.ส.ตรีนุช กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว ให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ที่จะเปิดในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน บางคนตกงาน บางคนรายได้ลด มีความไม่แน่นอนในอาชีพสูง ดังนั้น เด็ก และผู้ปกครอง จะต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ มีค่าใช้จ่ายมากน้อยแตกต่างกัน เช่น จากข้อมูลพบว่าถ้าเด็กย้ายจากระดับประถมเข้าสู่ระดับมัธยม เด็ก และผู้ปกครอง จะต้องวางเงินประกันให้โรงเรียนว่าจะมาเรียนแน่นอน 3,000-4,500 บาท

“นอกจากนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วิจัยพบว่า สิ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่มก่อนเปิดเรียนคือ ค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์ โดยผู้ปกครองต้องเสียเงินเฉลี่ย 4,055-9,042 บาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงเพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า ที่ผู้ปกครองต้องเสียเงินเฉลี่ย 2,058-6,034 บาทต่อคนต่อปี รวมแล้วก่อนเปิดเทอม นักเรียน 1 คน ต้องใช้เงินเฉลี่ย 6,113-15,076 บาทต่อคนต่อปี” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องจ่ายก่อนเปิดภาคเรียน สะท้อนให้เห็นว่านโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทำไม่ได้จริง ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนบางคนต้องเข้าโรงรับจำนำ เป็นหนี้ เพื่อหาเงินมาซื้อของให้ลูก เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายจริงกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของรัฐบาล ผู้ปกครองได้รับผลประโยชน์เพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

จึงขอให้รัฐบาลเร่งปรับค่าใช้จ่ายรายหัวให้ทันก่อนเปิดเทอม และควรจะปรับเพิ่มอย่างน้อย 50% เพื่อช่วยบรรเทา และเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจกับคนยากจน และคนที่ขัดสน ต้องเร่งปรับขึ้นเงินอุดหนุนรายหัวให้ทันก่อนเปิดเทอม

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายตามน้องกลับมาเรียน ที่ขณะนี้ ศธ.ติดตามกลับมาได้ 90% แล้ว เหลืออีกประมาณ 12,000 คน ถือเป็นนโยบายดี และน่ายกย่องที่ ศธ.สามารถดึงเด็กกลับมาเรียนได้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตามในการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 นอกจากที่ตามน้องกลับมาเรียน ระดมฉีดวัคซีนให้เด็ก และเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์ ศธ.ควรจะมีนโยบายรองรับ และช่วยไม่ให้เด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ออกจากระบบการศึกษาซ้ำอีกครั้ง

โดยวิธีการช่วยเหลือมีหลายอย่าง เช่น หาทุนการศึกษา ช่วยส่งต่อเด็กไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ฝึกอาชีพ หางานให้เด็กทำ เป็นต้น ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ถ้าไม่มีกระบวนการอะไรรองรับ จะมีเด็กประมาณ 50% ที่อาจจะหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำอีก

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ mixermaid.com

Releated